Haijai.com


หมดยุคสอนลูกด้วยการตี


 
เปิดอ่าน 3510

หมดยุคสอนลูกด้วยการตี

 

 

หากจะย้อนยุคไปสัก 10–20 ปีที่แล้ว (ย้อนไปไกลซะรู้อายุปัจจุบันกันเลยนะคะเนี่ยะ) คุณพ่อคุณแม่คงคุ้นหูกับวิธีการสอนลูกๆ จอมซนที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” แม้แต่ในปัจจุบันนี้ ในยุคที่มี 3G เทคโนโลยีที่รวดเร็วแล้วก็ตาม ประโยคข้างต้นก็ยังคงอยู่ ใครยังสอนลูกด้วยการตีเพี้ยะๆๆ อยู่บ้างคะ (ขอบอกค่ะว่า หมดยุคแบบในละครย้อนยุคที่นางทาสทำผิดแล้วถูกทำโทษด้วยการเฆี่ยนตี) ซึ่งเหตุผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเสียงไม้แหวกอากาศนั่นก็คือ “รักนะ ถึงได้ตี” แต่การสอนลูกผ่านเสียงไม้กระทบผิวหนัง ส่งผลกระทบในด้านลบสะท้อนไปถึงจิตใจลูกได้นะคะ

 

 

เหตุผล ที่คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีสอนลูกด้วยการตี

 

“ความรัก + ปรารถนาดี + ห่วงใย + ใส่ใจ + ต้องการสอนบางสิ่งบางอย่างกับลูก + อยากให้ลูกเชื่อฟัง + อยากให้ลูกอยู่ในกฎระเบียบที่คุณพ่อคุณแม่วางไว้ + และปิดท้ายด้วยอารมณ์โกรธของคุณพ่อคุณแม่ ในบางครั้งที่ขาดความยับยั้งชั่งใจเผลอผสมอารมณ์โกรธลงไป จนเพิ่มแรงตกกระทบจากไม้ผ่านไปถึงผิวหนังของลูก แล้วสุดท้ายคุณพ่อคุณแม่แอบมานั่งเสียใจน้ำตาไหลเสียเอง”

 

 

ผลกระทบด้านลบ จากไม้เรียวที่กระทบผิวหนังที่สะท้อนไปถึงจิตใจลูก ที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะคาดไม่ถึง

 

 ทำให้ลูกไม่กล้าแสดงอารมณ์ที่แท้จริงของตัวเองออกมา เช่น อารมณ์โกรธ เสียใจ เพราะกลัวว่าหากแสดงอารมณ์ที่แท้จริงของตัวเองออกไปก็กลัวว่าคุณพ่อคุณแม่อาจจะโกรธ และถูกลงโทษ

 

 

 ทำให้ลูกเก็บกด เมื่อเวลาเป็นทุกข์ หรือเกิดปัญหาไม่กล้าที่จะปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ เพราะกลัวการถูกลงโทษ จึงไม่กล้าพูดปรึกษาใคร

 

 

 ทำให้ลูกไม่อยากพูดกับใคร เพราะรู้สึกว่า พูดคุยกับใครไม่ได้ ทำให้ลูกเงียบขรึมลง

 

 

 ทำให้ลูกขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าที่จะทำอะไร จนขาดความมั่นใจที่จะลงมือทำ เพราะคิดแต่ว่าสิ่งที่จะทำอาจจะผิดอีกก็ได้

 

 

 ทำร้ายจิตใจลูกโดยไม่รู้ตัว ในความคิดของลูก คนที่คอยดูแล และอยู่ใกล้ชิดกับเขาอย่างคุณพ่อคุณแม่ จะต้องคอยปกป้องดูแลเขา แต่ในทางกลับกัน คนนั้นกลับทำร้ายร่างกาย (ลงโทษด้วยการตี) และจิตใจลูก (จากอารมณ์ที่ทั้งโกรธทั้งรักของคุณพ่อคุณแม่ที่ผสมลงไปพร้อมๆ กันในขณะตีลูก)

 

 

 ทำให้ความก้าวร้าวที่ติดค้างอยู่ในใจลูก ด้วยอารมณ์โกรธ เสียใจ ที่ลูกไม่สามารถแสดงออกมาให้คุณพ่อคุณแม่เห็นได้ ลูกอาจเลือกที่จะแสดงความก้าวร้าวกับคนอื่น เช่น แกล้งเพื่อน เป็นต้น (คุณพ่อคุณแม่ตีหนูได้ ทำไมหนูจะลองทำกับคนอื่นบ้างไม่ได้ล่ะ...???)

 

 

 ทำให้ลูกกลัวการถูกทำร้าย สำหรับผู้ใหญ่อาจจะมองว่า การตีก็เพื่อสอน แต่สำหรับเด็กแล้ว การตี ทำให้เกิดความกลัว และรู้สึกว่า กำลังถูกทำร้ายร่างกายทำให้รู้สึกเจ็บ “การตีลูกก็เพื่อ… สอน แต่ในขณะเดียวกัน คำสอน ก็ถูกบดบังด้วย ความกลัว ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในจิตใจลูก”

 

 

จากผลกระทบด้านลบที่แอบซ่อนอยู่ อาจจะพูดได้ว่า การตี : ทำให้เจ็บทั้งตัว เจ็บทั้งจิตใจ ทั้งคุณพ่อคุณแม่ และคุณลูกเลยนะคะ ถ้าแก่นแท้ของการตี คือ คำสอน… เมื่อลูกทำผิดลองข้ามขั้นตอน... ใช้คำสอน ใช้ความเข้าใจ และใช้เหตุผลในการสอนลูกกันดีกว่าไหมคะ เพราะการสอนลูกให้รู้จักผิด และถูก...ด้วย เหตุผล...!!

 

 

ก็เป็นการฝึกฝน ให้ลูกรู้จักใช้ ทั้งเหตุและผล ในการจะลงมือกระทำสิ่งต่างๆ ในอนาคตไปพร้อมๆ กันค่ะ

 

 

“ริ้วรอยแผลบนร่างกายอาจจางหาย แต่รอยแผลเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ...ต้องใช้เวลาเท่าไรกัน…??? ถึงจะลบเลือน... หรือไม่มีวันลบรอยเจ็บเล็กๆ นั้น ให้หายไปจากใจลูกได้กันแน่นะ”

(Some images used under license from Shutterstock.com.)