Haijai.com


สุขภาพของผู้สูงอายุตามธรรมชาติของวัย


 
เปิดอ่าน 3749

สุขสง่าเมื่อสูงวัย

 

 

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับการเตรียมการปรับโครงสร้างรองรับ ในหลายด้านตามความต้องการที่ปรับเปลี่ยนไปตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น หนึ่งในความสำคัญควบคู่กับความมั่นคงในเรื่องการดำเนินชีวิต คือ เรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุที่เป็นไปตามธรรมชาติของวัย และเป็นไปตามสภาวะของโรคที่อาจมีมาก่อนสูงวัย

 

 

นอกจากสภาวะโรคทางกาย ผู้สูงอายุก็เป็นเช่นเดียวกับช่วงวัยอื่นๆ ที่มีโอกาสมีประสบการณ์ในชีวิตที่เฉพาะเจาะจงกับวัย ไม่ว่าจะเป็นการเกษียณจากการทำงาน การสูญเสียคู่ครองที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การอยู่ตามลำพัง โดยเฉพาะเมื่อการเคลื่อนไหวร่างกายมีข้อจำกัดมากขึ้น ไม่สามารถออกนอกบ้านได้ด้วยตนเอง ถึงช่วงเวลาหนึ่งอาจไม่สามารถช่วยตนเองในเรื่องพื้นฐานได้ ซึ่งทำให้เป็นวัยที่อาจจะเกิดภาวะซึมเศร้าได้

 

 

ภาวะซึมเศร้าเป็นภาวะที่ทำให้ไม่รู้สึกสนุกหรือมีความสุขในชีวิตเหมือนอย่างที่เคยเป็น กระทบเรื่องการรับประทานอาหาร การนอน ความรู้สึกอ่อนล้า ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ภาวะปกติสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าผู้สูงอายุจะเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความยุ่งยากลำบากมากเพียงใด ก็สามารถก้าวผ่านไปโดยไม่จำเป็นต้องอยู่กับความซึมเศร้าตลอดเวลา

 

 

สัญญาณเตือน

 

สำหรับคนในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุสามารถสังเกตอาการ ที่อาจแสดงถึงภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ หากเริ่มมีอาการเหล่านี้ เช่น แสดงอารมณ์เศร้า อ่อนล้า ขาดความสนใจในกิจกรรมอย่างที่เคยทำ บางท่านเคยดูทีวี ฟังวิทยุ โทรศัพท์หาคนที่คุ้นเคย เล่นกับหลาน จะไม่ทำเหมือนอย่างที่ทำ เริ่มปฏิเสธ แยกตัว เก็บตัวอยู่ตามลำพัง ไม่อยากพูดคุย มีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง มีปัญหาการนอน นอนหลับได้ยาก หรือนอนมากเกือบตลอดทั้งวัน ไม่อยากเคลื่อนไหว เริ่มบ่นว่าตนองไม่มีประโยชน์ เป็นภาระ ไม่น่ามีชีวิตอยู่ ทำให้คนอื่นต้องลำบาก ถ้ารุนแรงมากจะพูดเรื่องความต้องการอยากจะตาย และอาจจะพยายามจะฆ่าตัวตาย

 

 

ในบางรายอาจไม่แสดงภาวะซึมเศร้าด้วยลักษณะอารมณ์เศร้าหรืออ่อนล้า แต่กลับมีลักษณะเหมือนพูดบ่นมากขึ้น และบ่นเรื่องอาการทางร่างกายที่ไม่ชัดเจน เช่น ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย ตามข้อ แต่ไม่มีอาการทางร่างกายที่สามารถตรวจพบได้ ถ้าไม่ยอมรับหรือไม่รู้สึกว่าตนเองเศร้า ลองสังเกตดูอาการเหล่านี้

 

 มีอาการเจ็บ ปวด ที่หาสาเหตุหรืออธิบายไม่ได้

 

 

 แสดงความสิ้นหวัง หมดหวังเกี่ยวกับตนเอง

 

 

 วิตกกังวล วุ่นวายใจเรื่องต่างๆ มาก

 

 

 มีปัญหาเรื่องความจำ เปลี่ยนไปจากเดิมหรือลดลงมาก

 

 

 พูดช้า เคลื่อนไหวร่างกายน้อย

 

 

 ขาดความกระตือรือร้น ความอยากจะทำกิจกรรมที่ชอบ

 

 

 ไม่สนใจ ไม่ดูแลตัวเอง ไม่ค่อยกิน ไม่อาบน้ำ แปรงฟัน

 

 

ผู้สูงอายุอาจไม่ร้องขอหรือบอกลูกหลานว่ารู้สึกอย่างไร หากสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อย่าปล่อยให้ผู้สูงอายุต้องโดดเดี่ยว ความเศร้าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความแก่ ผู้สูงอายุสามารถมีชีวิตที่มีความสุขไปตามวัย แม้จะมีเหตุการณ์ต่างๆ เข้ามาในชีวิต อย่างการสูญเสียคู่ชีวิต ทำให้ผู้สูงอายุโศกเศร้าระยะเวลาหนึ่ง เมื่อผ่านช่วงเวลาที่โศกเศร้าจะเริ่มปรับตัว เก็บความทรงจำที่ดีที่มีต่อกัน สามารถทำกิจกรรมตามหลักศาสนาและความเชื่อเพื่อการระลึกถึงคนที่จากไป

 

 

ข้อควรระวังอีกประการ ภาวะโรคและยาที่ใช้ในการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงต้องแจ้งแพทย์ผู้ดูแลเพื่อส่งตรวจประเมินกับจิตแพทย์ และรักษาภาวะซึมเศร้าร่วมกับภาวะโรคทางกายที่มี การดูแลจากคนในครอบครัว เป็นกำลังใจสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ระวังการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่เพื่อลดอาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่เกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้อาการแย่ลง

 

 

ความรู้สึกโดดเดี่ยวเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบความรู้สึกผู้สูงอายุได้มาก ครอบครัวคงต้องบริหาร วางแผนให้ยังสามารถดูแล เชื่อมต่อการสื่อสารกับผู้สูงอายุในครอบครัว ลองสร้างกิจกรรมที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกดีขึ้น ตัวอย่าง กิจกรรมที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีอารมณ์ที่ดีขึ้น เช่น

 

 การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายแบบที่เหมาะกับวัยและร่างกาย รวมทั้งการได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ แสงแดดอ่อนๆ ช่วยเรื่องการกระตุ้นอารมณ์ได้ดี

 

 

 การสื่อสารการพูดคุย รักษาการสื่อสารกันในครอบครัว กลุ่มเพื่อน คนคุ้นเคยผ่านอุปกรณ์ที่ผู้สูงอายุยังสามารถเชื่อมต่อได้ ลูกหลานควรเป็นฝ่ายเริ่มการสื่อสารเสมอ ไม่ต้องรอจนผู้สูงอายุถามหา

 

 

 รักษาสมดุลชีวิตในทุกวัน ดูแลเรื่องอาหาร การมีเวลานอนเวลาพักผ่อน การทำกิจกรรมตามความสนใจ อาจรวมการฝึกทักษะใหม่ๆ อย่างการวาดภาพ รวมทั้งการได้อาสาไปทำเรื่องที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ

 

 

การดูแลด้วยความเข้าใจจากคนทุกวัยในครอบครัว เป็นยารักษาภาวะซึมเศร้าที่ได้ผลดีสำหรับผู้สูงอายุควบคู่ไปกับการรักษาโรค ผู้สูงอายุจะอยู่อย่างสุขสง่าสมวัยไปตลอด

 

 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

(Some images used under license from Shutterstock.com.)